GOOGLE ประกาศเครือข่ายการวิจัยร่วมด้าน AI ในเอเชียแปซิฟิก นำโปรแกรมป้องกันตาบอดด้วยเทคโนโลยี AI มาใช้ในไทย

Google และคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia Pacific หรือ UN-ESCAP) จัด “APAC AI for Social Good Summit” งานประชุมเกี่ยวกับการใช้ AI เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม
การร่วมเป็นพันธมิตรครั้งนี้ Google จะมอบทุนให้กับสมาคมวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก (Association of Pacific Rim Universities) เพื่อสร้างเครือข่ายวิจัยด้าน AI เพื่อประโยชน์ต่อสังคมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific AI for Social Good Research Network) ซึ่งเครือข่ายนี้จะนำนักวิชาการชั้นนำจากทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมารวมตัวกันเพื่อทำการวิจัยเกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้ AI ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และแนวทางที่ดีที่สุดในการจัดการกับความเสี่ยงและความกังวลต่าง ๆ อีกทั้งยังเป็นเวทีสำหรับนักวิชาการเหล่านี้เพื่อหารือเกี่ยวกับการวิจัยร่วมกับภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการต่อยอดมากจากเครือข่ายวิจัยและฝึกอบรมด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Research and Training Network on Science, Technology and  Innovation Policy หรือ ARTNET on STI) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่าง UN-ESCAP และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)
ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะมุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยที่ทันสมัยและการให้คำแนะนำด้านนโยบายเกี่ยวกับ AI เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ESCAP ได้รับมอบหมายให้เสริมสร้างวาระด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในระดับภูมิภาคผ่านบทบาทในฐานะคลังสมอง ที่ปรึกษาด้านนโยบาย และผู้รวบรวมข้อมูล โดดยจะช่วยสนับสนุนประเทศสมาชิกในความพยายามในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ภายในงาน Google ยังได้ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกับโรงพยาบาลราชวิถี สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในการป้องกันการเกิดตาบอดโดยใช้ซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา (Diabetic Retinopathy)
ทั้งนี้ Google ได้ดำเนินโครงการริเริ่มนี้แล้วในคลินิกหลายแห่งในประเทศอินเดีย โดยได้รับการสนับสนุนจาก Verily หลังจากการศึกษาย้อนหลังในประเทศไทยเป็นเวลาหลายเดือน ตอนนี้ Google กำลังร่วมมือกับโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อเริ่มการทดลองทางคลินิกในพื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกทั่วประเทศ
นพ. ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานกว่า 4-5 ล้านราย ทุกรายมีความเสี่ยงต่อภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่นำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น ทั้งนี้สามารถป้องกันได้โดยการตรวจคัดกรองเป็นประจำและตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยแพทย์จะวิเคราะห์ภาพด้านหลังของดวงตาเพื่อหาสิ่งปกติที่เป็นสัญญาณของภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตา
แต่ในประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านดวงตาอยู่เพียงประมาณ 1,500 คน ผลจากการศึกษาย้อนหลังพบว่าในการตรวจคัดกรองแบบเดียวกัน แบบจำลอง AI ตรวจจับภาวะเบาหวานขึ้นจอประสาทตาได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกฝนมาแล้ว
ซึ่ง AI มาช่วยในเรื่องนี้ได้ก็คือ Google จ้างผู้เชี่ยวชาญด้านดวงตา 54 คน เพื่อวิเคราะห์ภาพด้านหลังของดวงตาจำนวน 130,000 ภาพ และทำการวินิจฉัย 880,000 ครั้ง จากนั้นจะนำการวินิจฉัยนี้ไปฝึกแมชชีนเลิร์นนิ่งให้เรียนรู้อัลกอรึธึ่ม เพื่อให้วิเคราะห์ภาพดวงตาและตั้งค่าระดับความเสี่ยง 5 ระดับ
Lily Peng ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Google Health กล่าวเสริมว่า เป้าหมายของ Google คือการทำให้ทุกคนเข้าถึงประโยชน์ของ AI ได้ เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้ขยายโครงการนี้มายังประเทศไทยผ่านความร่วมมือกับโรงพยาบาลราชวิถี โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้คนไทยได้รับการตรวจคัดกรองที่สามารถป้องกันการสูญเสียการมองเห็นได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการประกาศเกี่ยวกับโครงการ AI Impact Challenge ของ Google ที่เปิดรับไอเดียและข้อเสนอแนะในการใช้ AI ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมจากองค์กรและสถาบันต่าง ๆ และเพื่อผลักดันให้องค์กรต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกร่วมสมัครเพื่อชิงทุนมูลค่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยในการประชุมวันที่ 2 ผู้สมัครที่มีศักยภาพจะได้รับโอกาสในการฝึกอบรมและสร้างพันธมิตร รวมทั้งสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้าน AI โครงการ AI Impact Challenge เปิดรับสมัครจนถึงวันที่ 22 มกราคม 2562 เวลา 23:59:59 น. ตามเวลามาตรฐานแปซิฟิก




ขอบคุณที่มา  https://www.mxphone.net/google-

ไม่มีความคิดเห็น: