ปัญหาโลกแตก "หวยแพง" ปี 62 จะหมดไปมั้ย?

ปัญหาโลกแตก "หวยแพง" ปี 62 จะหมดไปมั้ย?
  • Share:
กว่า 4 ปีที่รัฐบาล คสช.งัดมาตรการแก้ปัญหาการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา หรือปัญหา “หวยแพง” เพื่อหวังจะ “คืนความสุข” ให้ประชาชนคอหวยที่ต้องถูก “มัดมือชก” มานับทศวรรษนั้น
แม้คณะกรรมการ (บอร์ด) สลากกินแบ่งรัฐบาล จะระดมมาตรการ “แก้ลำ” หวยแพงสารพัดมาตรการ ทั้งจัดพิมพ์สลากเพิ่มจนจ่อจะ 100 ล้านฉบับอยู่รอมร่อ การยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่าย สลายกลุ่ม “5 เสือนอนกิน” ไปจนถึงจับปรับดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด และล่าสุดเตรียมจัดพิมพ์สลากรวมชุดเสียเอง!
แต่ถึงวันนี้ที่กำลังก้าวสู่ปีใหม่ 2562 ปัญหาการขายสลากเกินราคาดูไม่ได้ลดลงไปแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำยังแพงหูดับตับไหม้หนักขึ้นไปอีก สลากรวมชุดของสำนักงานสลากกินแบ่งฯ ที่ตั้งใจใช้สยบปัญหาหวยแพงกลับกลายเป็นการส่งเสริมให้พ่อค้ารวมชุดได้ง่ายขึ้นไปอีก จากที่เคยรวมชุดกันได้แค่ 2-3 ชุด กลายเป็น 10-20 ชุด ง่ายขึ้นไปอีก!
“ทีมเศรษฐกิจ” ในฐานะที่ติดตามปัญหานี้มาอย่างใกล้ชิด ถือโอกาสที่กำลังย่างเข้าสู่ปีใหม่ 2562 นี้ คลี่มาตรการแก้ลำหวยแพงของสำนักงานสลากอีกครั้ง ด้วยหวังว่าปีเก่าที่กำลังจะผ่านไปนี้ ปัญหา “กลัดหนอง” ของประชาชนคนไทยและคอหวยคงจะเบาบางหรือหมดลงไปได้เสียที
**********

คลี่ “โรดแม็ป” แก้ลำหวยแพง!

การแก้ไขปัญหาสลาก “เกินราคา” ในระยะแรกของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น เน้นหนักไปที่การแก้ไขที่การกำราบ “ผู้ค้าสลาก” และ “เอเย่นต์” เป็นหลัก
โดยเริ่มนับ 1 แก้ไขปัญหาสลากเกินราคาด้วยการ “เพิ่มส่วนลด” หรือกำไรจากการขายสลากจากเดิม 9% เป็น 12% ให้แก่บรรดาผู้ค้าหวยทั้งหลายเพื่อหวังจะให้ผู้ค้าอยู่ได้โดยไม่ต้องโก่งราคาขาย โดยผู้ค้าจะมีกำไรจาก 7.20 บาท เป็น 9.60 บาท/ฉบับ หากผู้ค้ามีสลากขายในมือ 1,000 ใบ จะมีกำไรเหนาะๆ 9,600 บาทต่องวด (15 วัน) หรือตกเดือนละ 19,200 บาท ซึ่งถือว่าพอเพียงจะเลี้ยงชีพอยู่ได้ไม่ว่าจะในส่วนผู้ค้าโดยทั่วไป หรือผู้ค้าสลากที่พิการ
แต่มาตรการดังกล่าวก็ “ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง” หาได้ทำให้ผู้ค้าขายในราคาที่กำหนดแต่อย่างใด!
ก่อนที่สำนักงานสลากฯจะเพิ่มมาตรการเข้มข้นในการควบคุมราคาขายปลีก เช่น กำหนดอัตราโทษรุนแรง หากขายสลากเกินราคาจะถูกจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ มีการจัดชุดปฏิบัติการพิเศษลงพื้นที่ตรวจสอบการขายสลากทั่วประเทศ มีการแถลงโชว์ผลการจับกุมผู้กระทำผิดขายสลากเกินราคาไปนับพันราย และยกเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากไปถึง 4,283 ราย ยกเลิกสิทธิ์จองซื้อสลากผ่านเครื่องเอทีเอ็มไปอีกกว่า 1,063 ราย พร้อมจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนตลอด 24 ชั่วโมง


ในระยะแรกในเดือน ต.ค.60 มีประชาชนร้องเรียนเข้ามายังศูนย์เป็นจำนวนมากถึง1,105 ราย แต่หลังจากนั้นก็ลดลงจนแทบหายเข้ากลีบเมฆ!
นอกจากนี้ ภายใต้แผน “โรดแม็ป” ระยะที่ 1 บอร์ดสำนักงานสลากฯยังได้ยกเลิกรางวัล “แจ็กพอต” ซึ่งถือเป็นต้นตอที่ทำให้ประชาชนหาซื้อเลขชุดหวังจะเป็นเศรษฐีร้อยล้านในพริบตา ทั้งยังปรับเปลี่ยนรางวัลเลขท้าย 3 ตัว มาเป็นรางวัลเลขหน้า 3 ตัว 2 รางวัล เลขท้าย 3 ตัวหลัง 2 รางวัล เพื่อหวังลดการรวมหวยชุดที่ยึดเอาเลขท้ายเป็นหลัก
แต่กระนั้นปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคาก็ยังไม่ลดลง ทำให้บอร์ดสลากต้องตัดสินใจประกาศยกเลิกโควตาสลากของ “5 เสือกองสลาก” และบริษัทนิติบุคคลที่เป็น “ยี่ปั๊ว” อีกกว่าหมื่นราย ที่นัยว่าเป็นต้นตอของการรวมเลขชุดตามที่ผู้ค้าสลากรายย่อยมักอ้างถึง แต่กระนั้นก็หาได้ทำให้ปัญหากลัดหนองดังกล่าวคลี่คลายลงไป!

เฟส 2 ขายสลากผ่านตู้ ATM

การแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาในระยะที่ 2 ที่บอร์ดสลากดำเนินการไปก็คือ การปรับแผนจำหน่ายสลากจากเดิมที่ขายผ่าน “เอเย่นต์” และระบบ “โควตา” เปลี่ยนมาเป็นการขายสลากผ่านระบบออนไลน์ผ่านตู้ ATM โดยมีธนาคารกรุงไทยทำหน้าที่เป็นผู้รับออเดอร์ และเครือข่ายกระจายสลากซึ่งจะทำให้ผู้ค้าสามารถซื้อสลากได้ในราคาต้นทุน 70.40 บาท/ใบ
ขณะเดียวกัน สำนักงานสลากฯได้ขออนุมัติเพิ่มการพิมพ์สลากขึ้นไปสูงสุดไม่เกิน 100 ล้านใบต่องวด โดยอ้างว่าเพื่อสร้าง “สมดุล” ระหว่างผู้ซื้อและผู้ค้า โดยในช่วงที่สลากราคาตก เช่น ใกล้เปิดเทอมหรือช่วงฤดูฝน สำนักงานสลากฯจะจัดพิมพ์สลากไม่เกิน 80 ล้านใบ แต่ในช่วงเทศกาลปีใหม่หรือตรุษจีนที่มีความต้องการมากจะเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากขึ้นมาให้เพียงพอต่อความต้องการ


ปัจจุบันสำนักงานสลากฯพิมพ์สลากออกมาจำหน่ายสูงถึง 90 ล้านใบ/งวดเข้าไปแล้ว!
แต่กระนั้นการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาก็ยังคงไม่คลี่คลายลงไป สลากที่พิมพ์เพิ่มเข้าไปกลายเป็นช่องให้พ่อค้าสามารถ “รวมหวยชุดใหญ่” ในระดับ 15 ใบ 90 ล้าน หรือ 22 ชุด 132 ล้านบาทก็มีมาแล้ว
ยิ่งเมื่อมีผู้ถูกรางวัลชุดใหญ่ 5 ชุด 30 ล้าน หรือ 15 ชุด 90 ล้าน ก็ยิ่งสร้างความฮือฮาที่ทำให้ผู้ค้าแห่ตามความต้องการซื้อ “หวยชุดใหญ่” มากขึ้นมาตามลำดับ บรรดามาตรการสยบ ปัญหาหวยแพงที่สำนักงานสลากฯขนออกมาเป็นกุรุดกลับไม่สามารถจะสกัดกั้นและสยบปัญหาดังกล่าวลงไปได้
แม้ก่อนหน้านี้ฝ่ายบริหารของสำนักงานสลากฯจะนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาโลกแตกนี้ ด้วยการเสนอรวมสลากเลขชุด 5 ใบขายในราคา 400 บาทเอง เพื่อแข่งกับสลากชุด 3 ใบของผู้ค้าสลากรายย่อย แต่ก็ยังไม่ได้รับการขานรับหรือตอบรับใดๆจากบอร์ดสลาก เพราะเกรงว่าจะยิ่ง “เข้าทางตีน” ผู้ค้าสลากรายย่อยให้เพิ่มโอกาสรวมสลากเลขชุดมากขึ้นไปอีกหรือไม่ก็ฉวยโอกาสขายในราคา 500-600 บาทไปอีกกลายเป็นรายการ “โยนอ้อยเข้าปากช้าง” ไปเสียอีก!
“หวยชุด” กลายเป็นของ “แสลง” ของสำนักงานสลากฯหนักเข้าไปอีก
ทำให้ล่าสุดบอร์ดสลากต้องตัดสินใจปรับ “โรดแม็ป” ระยะที่ 2 และ 3 ใหม่เพื่อพัฒนาระบบจองซื้อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และคัดกรองผู้ขายจริง รวมทั้งตัดสิทธิ์ผู้ค้าที่ขายสลากเกินราคา พร้อมเตรียมยกร่างพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 เพื่อกรุยทางไปสู่การจำหน่าย “สลากออนไลน์”


จาก 5 เสือสู่ “รายย่อยออนไลน์”

หากสำรวจตลาดสลากกินแบ่งวันนี้ กล่าวได้ว่าแม้ยังคงมีสลากราคาใบละ 80 บาทวางขายอยู่บนแผง แต่มีสัดส่วนไม่ถึง 30% เท่านั้น ที่เหลือ 70% นั้นถูกแปรสภาพเป็นสลากเลขชุดไล่ไปตั้งแต่ชุดเล็ก 2 ใบ 3, 5 ใบ ไปจนถึงชุดใหญ่ 10-15 และ 22 ใบสูงสุดที่ขายกันสูงถึงชุดละ 3,300 บาท หรือตกใบละ 150 บาท
ขณะที่มาตรการแก้ปัญหาสลากเกินราคาที่บอร์ดสลากดำเนินการไปก่อนหน้า และที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นกล่าวได้ว่า ยัง “เกาไม่ถูกที่คัน” มาตรการจัดการกับปัญหาโลกแตกที่ไล่จากเบาไปหาหนัก จากตักเตือน จับ ปรับและตัดโควตานั้น ไม่ได้ทำให้ปัญหาการขายสลากเกินราคาเบาบางลงแต่อย่างใด
ส่วนหนึ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหาของกองสลากหลงทางไปนั้น ก็เพราะโลกโซเชียลมีเดียในยุค 4.0 ที่มีการสร้างสังคมโซเชียล กลุ่มไลน์ เฟซบุ๊กนั้น ได้สร้างเสือตัวเล็กขึ้นมานับหมื่นๆตัว กลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ใหม่ที่สามารถรวมสลากเลขชุด 3-5 ใบได้อย่าง “บริดวก” และบางครั้งหากเป็นไลน์กลุ่มใหญ่ก็สามารถรวบสลากเลขชุดไปได้ถึง 10-15 หรือ 20 ใบเลยทีเดียว
โดยคาดว่ามีกลุ่มคนที่หากินอยู่กับการซื้อ-ขายสลากเลขชุดในแต่ละงวดไม่น้อยกว่า 200,000 คน กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศจึงทำให้สำนักงานสลากฯไม่กล้างัดไม้ตาย เปิด “สลากเลขท้าย 3 ตัวและ 2 ตัว”หรือ “ลอตโต้” ได้ เพราะกลัวว่าผู้ค้าสลากกว่า 200,000 คนจะลุกฮือจนกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมืองขึ้นมา
สำนักงานสลากฯจึงได้แต่หลอกตัวเองมาตลอดว่าแก้ไขปัญหามาถูกทาง เพราะอย่างน้อยยังคงมีสลากราคา 80 บาทอยู่ในท้องตลาด


บทสรุปมาตรการ “แก้ลำหวยแพง” ที่ดำเนินการไปจึงเป็นเพียงการใช้ “ไม้นวม” ไม่ได้จัดการกับผู้ค้าสลากเกินราคาให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด เป็นแค่การ “ซื้อเวลา” ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่จัดการอันเป็นวิธีการเดิมๆที่นักการเมืองใช้มานับแต่อดีต!
**********
เหนือสิ่งอื่นใด ตราบใดที่สำนักงานและบอร์ดสลากยังคงสาละวันอยู่แต่กับการแก้ไขปัญหาแบบเดิม โดยไม่กล้า “หักดิบ” แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เฉกเช่นที่รัฐบาลในอดีตเคยงัดหวยบนดิน 3 ตัวและ 2 ตัวมาขจัดหวยใต้ดินและแก้ไขปัญหาการขายสลากเกินราคาไปในตัว
ก็เห็นทีปัญหาการขายสลากเกินราคาจะยังคงเป็นปัญหากลัดหนองของคนไทยไปตลอดศก!!!


ขอบคุณที่มา  https://www.thairath.co.th/content/1456201

Home Alone โดดเดี่ยวผู้น่ารัก กลับมาแล้ว! 28 ปีผ่านไป เด็กน้อยเควินในวัยผู้ใหญ่

Home Alone โดดเดี่ยวผู้น่ารัก ภาพยนตร์สุดโด่งดัง และน่ารัก ที่ฉายครั้งแรกเมื่อปี 1990 หรือ 28 ปีที่แล้วโน่น กลับมาเป็นกระแสในปี 2018 อีกครั้ง หลัง NETFLIX ได้นำเรื่องนี้มาสตรีมอีกครั้งในช่วงคริสต์มาสนี้ ล่าสุด Google ได้ปล่อยโฆษณาชุดใหม่ Google Assistant ต้อนรับเทศกาลคริสมาสต์ ในรูปแบบ Home Alone วัยผู้ใหญ่ ซึ่งแสดงโดย แม็กเคาเลย์ คัลกิน คนเดิม ซึ่งเคยรับบทเป็น เควิน แม็กคาลลิสเตอร์ ในวัยเด็กเมื่อ 28 ปีที่แล้ว 

home alone โดดเดี่ยวผู้น่ารัก
หนูน้อยเควิน ในเรื่อง เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่อยู่บ้านคนเดียว ฉากเดียวกับในภาพยนตร์เมื่อ 28 ปีก่อนเลย
home alone โดดเดี่ยวผู้น่ารัก
แต่มีผู้ช่วยคนใหม่คือ โปรดักส์ของ Google ที่มาพร้อม Google Assistants นั่นเองที่ให้สั่งงานด้วยเสียง เพื่อสั่งงานเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน รายงานข้อมูลต่างๆ ทำให้ชีวิตง่ายขึ้น และหน้าตาวัยผู้ใหญ่ของเควินในเรื่อง Home Alone ตอนพิเศษนี้ น่ารักและหล่อเหลือเกิน เชื่อว่าอยากให้คนนี้มาแสดงใน Home Alone ภาคใหม่ล่าสุดอีกครั้ง 

ลองชมเบื้องหลังการทำ Home Alone ตอนพิเศษ โดย Google Assistants ที่วีดีโอด้านบนได้เลย ส่วนใครอยากดู Home Alone โดดเดี่ยวผู่น่ารัก แบบ Original ละก็ ชมได้ทาง NETFLIX ซึ่งมีให้ชมทั้งภาค 1 และภาค 2
home alone โดดเดี่ยวผู้น่ารัก
home alone โดดเดี่ยวผู้น่ารัก
home alone โดดเดี่ยวผู้น่ารัก
ข้อมูลจาก Youtube ช่อง Google

ขอบคุณที่มา https://www.it24hrs.com/2018/home-alone-again-google-assistants/