NASA แถลงด่วนสถานการณ์ยาน Opportunity ขั้นโคม่า หลังเจอพายุบนดาวอังคาร

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (NASA) เผยเหตุการณ์พายุขนาดใหญ่บนดาวอังคาร กระทบการทำงานของ ยาน Opportunity ที่ปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคารกว่า 15 ปี อย่างไรก็ตาม  NASA ค้นพบข้อมูลสำคัญ เกี่ยวกับกลไกการเกิดพายุขนาดใหญ่บนดาวอังคาร

ยาน Opportunity
ยาน Opportunity
เมื่อคืนวันที่ 13 มิถุนายน 2018 NASA เปิดเผยข้อมูล ว่าพายุขนาดใหญ่ปกคลุมดาวอังคารเป็นบริเวณกว้างประมาณ 35 ล้านตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1 ใน 4 ของพื้นผิวดาวอังคาร ฝุ่นที่หนาทึบส่งผลให้ระบบการทำงานของยาน Opportunity ที่กำลังปฏิบัติภารกิจบริเวณหลุมอุกกาบาตเอ็นแดเวอร์ ถูกปิดตัวลงเกือบทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้เพียงพอ

ยาน Opportunity
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ยานอวกาศรีคอนเนส์เซนส์ ออร์บิเตอร์ที่กำลังโคจรรอบดาวอังคาร สามารถบันทึกภาพการก่อตัวของพายุขนาดใหญ่ และส่งข้อมูลมายัง NASA ก่อนพายุจะทวีความรุนแรงขึ้นในอีก 3-4 วัน ส่งผลให้ NASA เตรียมรับมือได้ทันท่วงที พายุขนาดใหญ่ลักษณะนี้เกิดขึ้นบนดาวอังคารทุก ๆ 3-4 ปีของดาวอังคาร หรือเท่ากับ 6 ถึง 8 ปีของโลก และใช้เวลาสลายตัวตั้งแต่หลายอาทิตย์หรือนานนับเดือน
พายุขนาดใหญ่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2007 ข้อมูลที่บันทึกได้จากเหตุการณ์พายุฝุ่นครั้งนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญในการสร้างแบบจำลองการเกิดพายุขนาดใหญ่บนดาวอังคาร ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่มีชั้นบรรยากาศเบาบาง หรือสามารถทำนายการเกิดพายุขนาดใหญ่ครั้งต่อไปในอนาคต



ยาน Opportunity
ภาพจำลองระดับแสงสว่างของดวงอาทิตย์ที่เปลี่ยนแปลงในขณะที่พายุกำลังรุนแรงขึ้น (ภาพ NASA)

ปัจจุบัน NASA มียานที่กำลังปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคาร 5 ลำ ประกอบด้วย ยานสำรวจภาคพื้น 2 ลำ คือ ยาน Opportunity และ ยาน curiosity อีก 3 ลำเป็นยานสำรวจรอบดาวอังคาร ได้แก่ “reconnaissance orbiter” ทำหน้าที่ศึกษาชั้นบรรยากาศและสภาพอากาศ รวมถึงการเกิดพายุต่าง ๆ “ยาน odyssey” ทำหน้าที่ศึกษาฝุ่นชั้นล่างด้วยกล้องอินฟราเรด และ “ยาน MAVEN” ทำหน้าที่ศึกษาบรรยากาศชั้นนอกสุด
สำหรับยานสำรวจ curiosity ได้รับผลกระทบจากพายุขนาดใหญ่ครั้งนี้เช่นกัน แต่ไม่มากนัก เนื่องจากกำลังปฏิบัติภารกิจในตำแหน่งที่ห่างจากจุดศูนย์กลางพายุ และหากยาน curiosity ถูกฝุ่นปกคลุมหนาทึบก็จะไม่กระทบต่อระบบการทำงานมากนัก เพราะไม่ได้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการขับเคลื่อน แต่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ที่สามารถเป็นแหล่งพลังงานในการปฏิบัติภารกิจได้อีกยาวนาน
ส่วนชะตากรรมของยาน Opportunity แม้ระบบการทำงานหลายส่วนปิดตัวลง หากได้รับพลังงานแสงอาทิตย์เพียงพอ ก็จะส่งสัญญาณมายังโลกได้อีกครั้ง
“มันเปรียบเสมือนการได้เห็นคนที่คุณรักอยู่ในอาการโคมา แล้วหมอบอกว่า เธอจะไม่เป็นไร ให้เวลาเธออีกหน่อย แต่หากคนที่คุณรักเป็นคนแก่อายุ 97 ปี คุณคงอดที่จะเป็นกังวลไม่ได้” จอห์น คาลลาส ผู้จัดการโครงการ NASA กล่าวทิ้งท้าย


ขอบคุณที่มา https://www.it24hrs.com/2018/opportunity-mars-storm-2018/

ไม่มีความคิดเห็น: