โรคไบโพลาร์ Bipolar คนอารมณ์สองขั้ว เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย

 โรคไบโพลาร์ (Bipolar) เป็นโรคทางอารมณ์ ทำให้ผู้ป่วยเป็นคนอารมณ์สองขั้ว เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย ลองไปทำความรู้จักกับ โรคไบโพลาร์ อารมณ์แปรปรวนกันให้ชัด ๆ

 

โรคไบโพลาร์ 
 
 

          สำหรับโรคไบโพลาร์ (Bipolar) นี้ เป็นโรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคทางด้านเรื่องอารมณ์ กลุ่มเดียวกับโรคซึมเศร้า แต่โรคซึมเศร้านั้นคือ โรคอารมณ์ที่ชัดเจน ที่มีอารมณ์เบื่อเศร้า แต่โรคไบโพลาร์ จะมีลักษณะที่มีอารมณ์ช่วงหนึ่งจะมีลักษณะครื้นเครง รื่นเริง สนุกสนานสลับกับอารมณ์ซึมเศร้าอีกช่วงหนึ่ง 

          โรคไบโพลาร์นี้มีหลายชื่อ เช่น โรคอารมณ์แปรปรวน, manic-depressive disorder, bipolar affective disorder, bipolar disorder ในปัจจุบันชื่อเป็นทางการคือ โรคไบโพลาร์ (bipolar disorder) ลักษณะสำคัญของโรคนี้คือ อาการผิดปกติของอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอาจเป็นแบบซึมเศร้า (depression) หรือตรงข้ามกับซึมเศร้าคืออารมณ์ดีผิดปกติ (mania) ก็ได้

 

โรคไบโพล่าร์

 

สาเหตุของโรคไบโพลาร์

          ถ้าถามว่า คนกลุ่มไหนเป็นโรคไบโพลาร์มากกว่ากัน จากสถิติจะพบว่า ผู้ป่วยโรคนี้มักเริ่มเป็นก่อนวัยกลางคน บางรายเริ่มเป็นตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 20 ปี ช่วงวัยรุ่น แต่อาการไม่ปรากฏชัด ทำให้คนไม่สังเกต แต่ก็มีบางรายที่มาเริ่มเป็นหลังอายุ 40 ปีได้ 

          ส่วนสาเหตุนั้น เชื่อว่าเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองโดยมีสารสื่อนำประสาทที่ไม่สมดุล คือมีสารซีโรโทนิน (serotonin) น้อยเกินไป และสารนอร์เอพิเนฟริน (epinephrine) มากเกินไป นอกจากนี้ ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมค่อนข้างมาก หากแพทย์ลองซักผู้ป่วยดี ๆ จะพบว่าผู้ป่วยจะมีญาติบางคนป่วยเป็นโรคนี้ด้วย ทำให้อาจบอกได้ว่า ลูกหลานของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์มีโอกาสที่จะป่วยเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป

อาการของโรคไบโพลาร์

          คนที่มีอาการไบโพลาร์นั้น จะอารมณ์ดีในลักษณะที่ผิดปกติ เรียกว่า mania หมายถึงอารมณ์ดีมากเกินกว่าปกติที่ควรจะเป็น และมักจะไม่มีเหตุผลหรือไม่สมเหตุสมผล ช่วงที่มีอารมณ์ดีจะช่างพูดช่างคุย คุยได้ไม่หยุด และไม่ชอบให้ใครมาขัดจะเกิดอารมณ์หงุดหงิด บางคนอารมณ์ดีจนกระทั่งตัดสินใจในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง 

          แต่ถ้าอารมณ์ร้ายขึ้นมาเมื่อไร ก็ถึงขั้นใช้อารมณ์ก้าวร้าวได้ เรียกว่าเปลี่ยนไปเป็นคนละคน ซึ่งอาจทำให้มีปัญหากระทบกระเทือนต่อหน้าที่การงาน และการใช้ชีวิตประจำวันได้เลย ผู้ป่วยบางคนจะมีปัญหาไม่ยอมหลับยอมนอน ตอนกลางคืน อยากเที่ยวกลางคืน ใช้จ่ายเงินมาก มีอารมณ์ทางเพศมากขึ้น สำส่อนทางเพศ 

          ถ้าอาการนี้เริ่มเป็นมาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น อาจทำให้ผู้ป่วยไม่มีสมาธิในการเรียน ผลการเรียนตกลง มีปัญหาทางพฤติกรรม ทะเลาะกับเพื่อนฝูง ครูอาจารย์ รู้สึกอยากไปเที่ยวกลางคืน ออกไปเตร็ดเตร่ ซึ่งถ้าพ่อแม่ไม่ได้ดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างใกล้ชิดก็จะไม่รู้สึกถึงความผิดปกติเลย

          อย่างไรก็ตาม อาการของโรคไบโพลาร์ไม่จำเป็นต้องสลับกับช่วงซึมเศร้า บางคนเป็นโรคนี้อยู่ช่วงหนึ่ง อาจจะประมาณ 4-6 เดือนก็สามารถกลับคืนเป็นปกติได้เองโดยไม่ต้องรักษา ทำให้คนรอบข้างไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหาถ้าไม่สังเกตอย่างใกล้ชิด เมื่อเป็นปกติแล้วเขาจะดำเนินชีวิตได้ปกติ พอถึงช่วงหนึ่งจะรื่นเริงอีก หรืออาจจะสลับไปขั้วตรงข้าม เป็นแบบซึมเศร้า อาการก็จะเริ่มตั้งแต่แยกตัว เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เบื่อ ๆ เข้าก็รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ที่สำคัญที่สุดคือการฆ่าตัวตาย   

        โรคนี้ ช่วงซึมเศร้าจะเหมือนกับโรคซึมเศร้า อัตราการฆ่าตัวตายคือ 15-20% เพราะฉะนั้น เท่ากับว่าผู้ป่วยหนึ่งในห้ามีโอกาสที่จะเกิดปัญหาเบื่อเศร้าและฆ่าตัวตาย แต่ช่วงที่รื่นเริงมาก ๆ ก็จะมีประเด็นการฆ่าตัวตายได้ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะแค่ตอนซึมเศร้า

 

ขอบคุณที่มา  https://health.kapook.com/view533.html

ไม่มีความคิดเห็น: