วิธีเอาตัวรอดเมื่อ'เพลิงไหม้' เกิดขึ้นในที่ทำงานอาคารสูง
© สนับสนุนโดย Si-Phaya Publishing Co.,Ltd.
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. แฟนเพจเฟซบุ๊กของ กองปราบปราม ได้ออกมาให้ความรู้ กรณีการเอาชีวิตรอดจากเหตุเพลิงไหม้ โดยระบุข้อความแสดงรายละเอียด 10 ขั้นตอนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่พักอาศัย หรือทำงานอยู่บนอาคารสูง
หากเพลิงไหม้เกิดขึ้นภายในห้อง สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การตั้งสติ อย่าตื่นตะหนก
ดึง หรือ กดสัญญานแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่กล่องแดงข้างผนังทางเดินทันทีที่พบเหตุเพลิงไหม้ แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม
หากเพลิงไหม้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น พยายามดับเพลิงโดยการใช้อุปกรณ์ดับเพลิงในอาคารให้ได้ภายใน 2 นาที อย่ามัวแต่รอความช่วยเหลือจากพนักงานดับเพลิง
หากไม่สามารถดับเพลิงไหม้ได้ ให้ออกจากห้อง และปิดประตูให้สนิทเพื่อชะลอการลุกลามของเพลิงไหม้ จากนั้นรีบออกจากอาคารให้เร็วที่สุด
แต่หากต้นเพลิงเกิดจากส่วนอื่นของอาคาร เมื่อทราบว่ามีเหตุเพลิงไหม้ ให้ตั้งสติ มองหาอุปกรณ์ส่องสว่าง ที่จะช่วยให้สามารถออกจากอาคารในความมืดได้ เช่น ไฟฉาย โทรศัพท์มือถือ
หาผ้าชุบน้ำปิดปาก ปิดจมูก หรือหาผ้าห่มชุบน้ำแล้วห่มตัว เพื่อป้องกันการสูดควันไฟ และเพื่อป้องกันความร้อนจากเปลวไฟ
ก่อนเปิดประตูให้แตะ หรือคลำลูกบิด หากร้อนจัดแสดงว่ามีเปลวเพลิงอยู่ด้านนอก อย่าตื่นตระหนกเปิดประตูทันทีเพราะจะถูกเปลวไฟพุ่งเข้าหาตัวได้
ห้ามใช้ลิฟต์เด็ดขาด เพราะหากติดอยู่ในลิฟต์ มีโอกาสสูงมากที่จะเสียชีวิตจากควันไฟ ให้ใช้บันไดหนีไฟ
หากติดอยู่ในกลุ่มควันไฟ ให้ก้มตัวลงต่ำ และคลานไปกับพื้น เพราะออกซิเจนจะลอยอยู่ที่ต่ำ ควันไฟเป็นเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่เสียชีวิตมากกว่าเปลวไฟถึง 3 เท่าตัว
กรณีที่ไม่สามารถออกจากห้องได้ เนื่องจากมีเปลวไฟอยู่บริเวณภายนอกห้อง ให้อยู่ภายในห้องพัก และปิดประตู ใช้ผ้าชุบน้ำอุดบริเวณขอบบานประตู และให้ขอความช่วยเหลือที่หน้าต่างหรือระเบียง
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญหากสามารถออกมาจากอาคารได้แล้ว แต่พบว่ามีคนยังติดอยู่ในอาคาร ห้ามกลับเข้าไปเด็ดขาด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงทำการช่วยเหลือ ทั้งนี้ขอแนะนำให้ทุกท่านหมั่นเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุเพลิงไหม้อยู่เป็นประจำ หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นมาเมื่อใด ท่านจะได้รู้วิธีการรับมือกับสถานการณ์นั้นได้อย่างปลอดภัย
ขอบคุณภาพ @กองปราบปราม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น