สนับสนุนเนื้อหา
เด็กในแต่ละวัย มีปริมาณไข่ที่ควรกินต่อวันไม่เท่ากัน แต่สามารถกินไข่ได้ทุกวัน ควบคู่กับการออกกำลังกาย ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และพัฒนาการของสมองได้เป็นอย่างดี
ไข่ไก่ คุณค่าทางสารอาหารสำหรับเด็ก
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ไข่เป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพสูง หาได้ง่าย และเหมาะสมสำหรับทุกเพศ ทุกวัย เป็นแหล่งของแร่ธาตุและวิตามินอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 บี 6 บี 12 วิตามินอี วิตามินดี โฟเลต เลซิธิน ลูทีน ซีแซนทีนและโคลีนที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย
โดยไข่ไก่ 1 ฟอง ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี และมีโปรตีนที่มีคุณภาพดีที่สุดโดยมีประสิทธิภาพในการดูดซึมสูงกว่าอาหารชนิดอื่น ซึ่งมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย 9 ชนิด ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตและการทำงานของระบบประสาท กระตุ้นการทำงานของสมอง เสริมสมาธิและความจำ กระทรวงสาธารณสุขจึงอยากส่งเสริมให้ประชาชน “กินไข่ทุกวัน กินดีทุกวัย” โดยเฉพาะเด็กวัยเรียนได้กินไข่ทุกวัน ควบคู่กับการดื่มนมวันละ 2 แก้ว และส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน วันละ 60 นาทีหรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน เพื่อให้เด็กเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ แข็งแรง และฉลาด เพราะจากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชากร พ.ศ.2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในกลุ่มวัยเรียนบริโภคไข่ทุกวันเพียงร้อยละ 23.7
เด็กในแต่ละวัย ควรกินไข่เท่าไรถึงจะเหมาะสม ?
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เด็กในแต่ละวัยจะบริโภคไข่ในปริมาณ ที่ต่างกัน
Advertisement
- เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ให้เริ่มที่ไข่แดงต้มสุกวันละครึ่ง ถึง 1 ฟอง
- เด็กอายุ 7 เดือนถึง 12 เดือน กินไข่ต้มสุกวันละครึ่งถึง 1 ฟอง
- เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป และเด็กวัยเรียนควรกินไข่วันละฟอง
การกินไข่ ควบคู่กับการบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้มีความหลากหลาย ลดอาหารหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักหลากสี 4 ช้อนกินข้าวทุกมื้อ และผลไม้สดหลังอาหารทุกมื้อ ในกรณีที่พ่อแม่ต้องการให้เด็กได้กินผักควบคู่กับไข่ ควรใช้วิธีการประกอบอาหารที่มีการใส่ผักลงไปในไข่ เพื่อเป็นการจูงใจให้เด็กกินผักได้อีกทางหนึ่ง เช่น ไข่เจียวหรือไข่ตุ๋นใส่ผักสับละเอียด เป็นต้น และกลุ่มวัยสูงอายุสามารถกินไข่ต้มสุกได้วันละฟอง แต่ในผู้ป่วยเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ควรกินไข่ 3 ฟองต่อสัปดาห์หรือตามคำแนะนำของแพทย์ ที่สำคัญต้องดูแลการบริโภคอาหารอย่างอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งผู้บริโภคควรกินไข่ควบคู่กับอาหารที่หลากหลายในแต่ละมื้อในสัดส่วนปริมาณที่เหมาะสม เพื่อคุณค่าทางโภชนาการและสารอาหารที่ครบถ้วน
นอกจากนี้ ควรเลี่ยงการกินไข่ดิบ เพราะอาจปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและไข่ขาว ที่ไม่สุกจะขัดขวางการดูดซึมไบโอตินซึ่งเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่งในลำไส้ ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินบีชนิดนั้น ไปใช้ประโยชน์ได้ จึงได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ และควรกินในรูปแบบไข่ต้ม ไข่ตุ๋น จะมีปริมาณไขมันน้อยกว่าไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ลูกเขย หรืออาจกินเป็นสลัดไข่ ยำไข่ เพราะจะทำให้ได้สารอาหารที่มีประโยชน์จากไข่ และได้ใยอาหาร วิตามินและแร่ธาตุจากผัก ส่วนอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคือ ขนมปังไข่ดาวใส่เบคอนหรือไส้กรอก เพราะจะได้รับปริมาณไขมันสูงมากจากเบคอน น้ำมันที่ใช้ทอด และเนยที่ทาขนมปัง ทั้งนี้ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ได้จัดทำ “เมนูไข่สำหรับอาหารกลางวันเด็กนักเรียน” ซึ่งเป็นเมนูไข่ที่หลากหลาย ประชาชนสามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น