สนับสนุนเนื้อหา
เนื่องในวันมะเร็งเต้านมโลก World Breast Cancer มูลนิธิเวชดุสิต ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยการกำกับดูแลของบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ และ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ จัดทำ “โครงการ ผ่าตัดเต้าเพื่อผู้ป่วยยากไร้...สู้ภัยมะเร็งเต้านม” โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม จำนวน 50 ราย ซึ่งเป็นโรคมะเร็งในผู้หญิงที่พบมากเป็นอันดับ 1 ทั้งในประเทศไทยและสถิติของโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ นอกจากนี้ยังพบผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 20,000 คนต่อปี หรือ 55 คนต่อวัน (ทะเบียนมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ, 2017) ทั้งนี้ หากพบตั้งแต่ระยะแรก ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาได้มากขึ้น
โรคมะเร็งเต้านม ภัยร้ายคุกคามชาวไทยที่เพิ่มจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นทุกปี
ศ.พิเศษ นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ กล่าวว่า โรคมะเร็งเต้านมมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นทุกปี โรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคร้ายที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่มีปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยสนับสนุน คือฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมจนเจริญเติบโตผิดปกติ และร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตที่ผิดปกตินั้นได้ ทำให้เซลล์เหล่านั้นกลายเป็นเซลล์มะเร็งและโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจแพร่กระจายออกไปยังอวัยวะอื่นๆ จากสถิติพบว่าอายุเฉลี่ยของคนไข้ที่พบมะเร็งเต้านมมากที่สุดคือ อายุ 40 ปีขึ้นไป
การรักษาโรคมะเร็งเต้านม ต้องทำให้เร็วที่สุด
หากผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม การรักษาโดยการผ่าตัดถือเป็นการรักษาหลักที่เป็นมาตรฐานสากล ให้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ มูลนิธิเวชดุสิตฯ และโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ได้เล็งเห็นความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงได้จัดโครงการขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เป็นการเพิ่มโอกาสการรักษามะเร็งเต้านมแบบทันท่วงทีและลดภาระของโรงพยาบาลในภาครัฐ โดยทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการรักษา เนื่องจากการรักษามะเร็งเต้านมมีความซับซ้อน อาจต้องมีหลายรูปแบบและต้องทำการรักษาร่วมกันต่อเนื่องหลังการผ่าตัด เช่น การฉายแสง การให้ยาเคมีบำบัดและการได้รับยาต้านฮอร์โมน เป็นต้น มีระยะเวลาในการรักษาค่อนข้างนาน จึงเป็นเหตุให้เกิดโครงการร่วมในการดูแลคนไข้กับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เพื่อผู้ป่วยหลังรับการผ่าตัดได้รับการรักษาและติดตามอาการที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ
กลุ่มเป้าหมายในการคัดเลือกผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมเข้ารับการผ่าตัดฟรี
โดยกลุ่มเป้าหมายในการผ่าตัดครั้งนี้คือ ผู้ป่วยคนไทย ที่มีอายุไม่เกิน 65 ปี ที่ใช้สิทธิบัตร 30 บาท/ประกันสังคม/ กรมบัญชีกลาง ไม่มีประกันสุขภาพ เป็นคนไข้ที่ถูกส่งต่อมาจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (ติดต่อสอบถามรายละเอรยดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ http://www.nci.go.th, Facebook NCI , LINE ID : @nciconnect)
Advertisement
แนวการทางการผ่าตัดโรคมะเร็งเต้านม
แนวทางการผ่าตัดรักษาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เป็นสำคัญ รวมถึงระยะของโรค ขนาดของก้อนและภาวะสุขภาพต่าง ๆ ของผู้ป่วย รูปแบบการผ่าตัดประกอบด้วย
- การผ่าตัดเต้านมออกเพียงบางส่วนโดยการใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย (Wide excision under GA)
- การผ่าตัดก้อนที่เต้านมและผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล (ใต้รักแร้) โดยการใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย (Lumpectomy with SLNB under GA)
- การผ่าตัดก้อนที่เต้านมและผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล (ใต้รักแร้) และเลาะต่อมน้ำเหลืองโดยการใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย(Lumpectomy with SLNB and axillary dissection under GA)
- การผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้าและผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล (ใต้รักแร้) โดยการใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย (Total mastectomy with SLNB under GA)
- การผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้าและเลาะต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้โดยการใช้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย (MRM under GA)
ซึ่งระยะเวลาพักฟื้นภายในรพ. ขึ้นอยู่กับรูปแบบการผ่าตัดในแต่ละประเภทของก้อนเนื้อ และระยะของโรค
นพ.สาธิต ศรีมันทยามาศ ศัลยแพทย์มะเร็งเต้านม โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ให้ข้อมูลเสริมว่า อยากรณรงค์ให้ผู้หญิงไทย ให้ความสำคัญกับการตรวจค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมว่า ในเบื้องต้นสามารถทำการตรวจค้นหาด้วยตนเองได้ และเมื่อพบก้อนมะเร็งที่มีขนาดเล็กในระยะเริ่มแรกจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมีโอกาสหายได้สูงมากและกลับเป็นซ้ำในภายหลังก็น้อย ตลอดจนสามารถเก็บเต้านมข้างที่เป็นมะเร็งไว้ได้โดยไม่ต้องตัดเต้านมทิ้ง เพียงแค่คว้านเอาก้อนมะเร็งออกให้หมดและใช้รังสีรักษาในส่วนเต้านมที่เหลืออยู่ ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อยมาก และบางกรณีหากค้นในพบระยะที่ก้อนมะเร็งยังเล็กอาจไม่ต้องใช้วิธีด้วยรังสีรักษาก็ได้หรืออาจไม่มีความจำเป็นจะต้องเลาะต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ออก ไม่เสี่ยงต่ออาการแขนบวมหรือแขนติดหลังผ่าตัด อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือคีโมอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น