เขื่อนอุบลรัตน์น้ำติดลบ ต้องสูบน้ำก้นอ่างใช้ คาดปีหน้าแล้งหนัก รุนแรงกว่าเดิม

       ภัยแล้งมาถึงแล้ว สถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์เข้าขั้นวิกฤติ เหลือปริมาณน้ำติดลบ ต้องนำน้ำก้นอ่างมาใช้ 

        วันที่ 30 ธันวาคม 2562 รายการข่าว 3 มิติ ทางช่อง 3 รายงานว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติได้ประกาศเตือนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการรับมือภาวะภัยแล้งที่กำลังจะมาถึง จำเป็นต้องเตรียมแหล่งน้ำสำรองเอาไว้ ซึ่งภาวะภัยแล้งครั้งนี้คาดว่าจะรุนแรงมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


        ล่าสุด กรมชลประทานได้ประกาศให้ เขื่อนจุฬาภรณ์ ใน จ.ชัยภูมิ และ เขื่อนอุบลรัตน์ ใน จ.ขอนแก่น อยู่ในสถานะมีน้ำน้อยมาก การบริหารจัดการน้ำต้องไปเป็นตามแผนการอย่างเคร่งครัด

        เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นเขื่อนใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความจุเก็บน้ำได้ 2,431 ล้านลูกบาศก์เมตร หล่อเลี้ยงพื้นที่หลายจังหวัด และสนับสนุนหลายลุ่มน้ำสำคัญ เช่น น้ำพอและน้ำชี โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 29 ธันวาคม พบว่าเขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำกักเก็บ 497 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือ 20.46 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง แต่จำนวนนี้คือน้ำสำรองก้นอ่าง ซึ่งหากไม่จำเป็นจะไม่นำมาใช้

        ทว่าเมื่อฤดูฝนที่แล้ว พบว่ามีน้ำไหลเข้าเขื่อนไม่มาก ทำให้ไม่มีน้ำมาเติม ตอนนี้จึงจำเป็นต้องนำน้ำก้นอ่างระบายออกไปใช้ก่อน โดยระบายออกไปแล้วทั้งสิ้น 84 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือเท่ากับติดลบ 4.5 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง นับว่าสถานการณ์น่าเป็นห่วง เพราะเหลือเวลาอีกเกือบครึ่งปีกว่าจะเข้าฤดูฝน

        ตอนนี้หน่วยงานรัฐหลายแห่งที่เกี่ยวข้อง ต่างเตรียมแผนรับมือภัยแล้ง โดยเฉพาะการหาแหล่งน้ำสำรองฉุกเฉิน เนื่องจากมีแนวโน้มว่าฤดูกาลหน้าฝนจะตกน้อยกว่าเดิม โดยกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ คาดการณ์ว่า ระหว่างเดือนมกราคม พฤษภาคม 2563 ฝนจะน้อยกว่าค่าปกติ 5-10 เปอร์เซ็นต์ ประกอบกับอากาศหนาวเย็นและความชื้นต่ำทำให้จะแห้งแล้งมากขึ้น

        ทางด้าน สำนักข่าว INN รายงานว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า แนวทางการดำเนินงานในปี 2563 นั้น ทางกระทรวงจะปรับรูปแบบการรับมือภัยแล้งให้มากขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยส่งเสริมการปลูกพืชน้ำน้อย พืชอายุสั้น และเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการทำอาชีพเสริมอื่น ๆ

        ในขณะเดียวกัน ก็จะต้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อที่จะรับมือกับภัยแล้งด้วยเช่นกัน โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2563 มีหน้าแล้งที่ยาวนานจนถึงประมาณเดือนพฤษภาคม จากนั้นจึงจะเข้าสู่ฤดูฝน จึงต้องวางแนวทางการเพาะปลูกพืชตามฤดูกาล เพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่มีอยู่

        แต่อย่างไรก็ตาม ขอให้เชื่อมั่นว่าในปี 2563 น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค จะมีปริมาณเพียงพอ รับรองได้ว่าไม่ขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน แม้ว่าปีนี้จะมีปริมาณน้ำน้อยก็ตาม รวมทั้งจะดำเนินการทำฝนหลวงเพื่อเติมน้ำในทุกพื้นที่ทั่วประเทศอย่างเต็มที่ ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันตก จะมีการผันน้ำจากเดิม 800 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่เสี่ยงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำด้วยเช่นกัน

 

ข้อมูลจาก สำนักข่าว INN

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

ไม่มีความคิดเห็น: