คาเธ่ย์แปซิฟิค ส่อวิกฤติ? ประกาศให้พนักงาน 27,000 คน ลางาน 3 สัปดาห์แบบไม่ได้ค่าจ้าง
คาเธ่ย์แปซิฟิค สายการบินหลักของฮ่องกงออกแถลงการณ์อนุญาตให้พนักงานทั้งหมด 27,000 คน ลางานได้ 3 สัปดาห์แบบไม่ได้รับเงินค่าจ้าง (Leave Without Pay) โดยสามารถเริ่มลางานได้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. - 30 มิ.ย. 2563 ที่จะถึงนี้
โดยคำแถลงนี้เกิดขึ้นเนื่องจากบริษัทต้องเผชิญกับผลกระทบจากการระบาดของ "ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่" ที่ส่งผลให้ผู้โดยสารลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ สายการบินระบุว่า การรักษากระแสเงินสดไว้ให้ได้มากที่สุด คือสิ่งสำคัญที่ต้องทำตอนนี้เพื่อรักษาธุรกิจ โดยขณะนี้ทางคาเธ่ย์ แปซิฟิคได้ยกเลิกเที่ยวบินที่เดินทางไปยังจีนแผ่นดินใหญ่แล้วกว่า 90% พร้อมทั้งยังวางแผนที่จะลดเที่ยวบินในเส้นทางอื่นๆ รวมแล้วกว่า 30% ในช่วงเวลา 2 เดือนข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นเพียงแค่ปัจจัยเสี่ยงใหม่เท่านั้น เพราะในปีที่ผ่านมาทางสายการบินต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักที่เกิดจากเหตุการณ์การประท้วงของประชาชนชาวฮ่องกงหลายล้านคน ที่ลงถนนประท้วงรัฐบาลเพื่อรักษาอธิปไตยซึ่งกินระยะเวลานานหลายเดือน รวมถึงการประท้วงที่สนามบินของฮ่องกง ส่งผลให้คาเธ่ย์ แปซิฟิคต้องยกเลิกเที่ยวบินไปหลายร้อยเที่ยวบิน และการเข้าร่วมประท้วงของพนักงานบางส่วนนำไปสู่การประกาศลาออกของอดีตซีอีโอเพื่อแสดงความรับผิดชอบกับการเข้าร่วมชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยของพนักงาน
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิคชี้ว่าความต้องการของลูกค้ายังคงน้อยอยู่มาก ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากจำนวนผู้โดยสารภายในประเทศที่เดินทางในเดือนธันวาคม 2019 ที่มีจำนวนลดลงไป 50% เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อนหน้า และมูลค่าหุ้นในช่วงหนึ่งเดือนแรกของปี 2020 นี้ก็ลดลงไปราว 12% และหากเปรียบเทียบกับช่วงเดือนเมษายนของปี 2019 มูลค่าหุ้นได้ลดลงไปแล้วมากกว่า 25%
อย่างไรก็ตาม มีสายการบินอื่นๆ จากทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับความท้าทายที่คล้ายคลึงกัน โดยขณะนี้มีสายการบินที่ลดจำนวนและยกเลิกเที่ยวบินไปยังประเทศจีนแล้ว ได้แก่ British Airways, Air Asia, Delta, United, American, Air India, Lufthansa และ Finnair
ขอขอบคุณ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น