FaceApp อาจจะได้รูปของเราไป แต่ Facebook กับ Google ได้จากเราไปมากกว่านั้น

gqthailand
สนับสนุนเนื้อหา

โดย โสภณ ศุภมั่งมี

           เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดูเหมือนว่าแอปพลิเคชั่น "FaceApp" จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากที่เห็นพฤติกรรมของผู้คนบนโลกโซเชียล จนกระทั่งสำนักข่าวและสื่อต่างๆ ได้ออกมาเตือนถึงความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานว่าอาจจะถูกแอปฯ ดังกล่าวขโมยข้อมูลได้

           ทว่า ทางผู้บริหารของแอปพลิเคชั่น FaceApp ก็ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าว และบอกว่าภาพของบุคลลที่ใช้แอปฯ นี้ จะถูกลบทิ้งจากเซิร์ฟเวอร์ภายใน 48 ชั่วโมง รวมถึงข้อมูลต่างๆ จะไม่มีการนำไปขายต่อหรือรั่วไหลอย่างแน่นอน

           หากพูดถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวแล้ว สำหรับเราและหลายๆ คน ถือเป็นเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อน แต่เราก็มักหลงๆ ลืมๆ ไม่ได้ใส่ใจในบางครั้ง อย่างวันก่อนที่ผม (ผู้เขียน) เพิ่งส่งเอกสารให้บริษัทหนึ่งเพื่อไปเอาของที่คาร์โก้สนามบินโดยที่ไม่รู้หรอกว่าเอกสารเหล่านั้นจะถูกทำลายหรือเอาไปใช้ต่อไหม? หรือการส่งสำเนาบัตรประชาชนให้คนนั้นคนนี้ ท้ายที่สุดแล้วก็ไม่รู้ว่าเอกสารเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร

           FaceApp ไม่ใช่เคสแรกที่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์ทำนองนี้อยู่บ่อยครั้ง เป็นเพียงกระแสบนโลกออนไลน์แล้วก็ผ่านไป แต่ที่ตื่นตระหนกตกใจก็อาจเป็นเพราะเป็นแอปพลิเคชั่นจากรัสเซีย แล้วคนที่ออกมาเตือนนี้ก็คือสหรัฐอเมริกา

           ความจริงก็คือ แค่พวกเขาเป็น “รัสเชีย” ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเลวร้ายไปด้วยกันเสียหมด (เหมือนมีคนเหมารวมว่า “ไทย” ต้องไม่มีระเบียบและขาดคุณภาพคงเป็นเรื่องที่ไม่จริงนั้นแหละ) ถ้าเป็นภาพยนต์ไซไฟที่บริษัทนี้จะสร้าง AI เพื่อครองโลกด้วยแผนการลับเบื้องหลังก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

           แต่เรื่องนี้ก็น่าสนใจอยู่พอสมควรถ้ามองความตื่นตะหนกของสังคมที่มีต่อ FaceApp และบริบทของความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ เพราะถ้าดูบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Facebook ที่ขนาดใหญ่โตเข้าขั้นครองโลกได้จริงๆ แน่นอนว่าพวกเขา “ควรจะ” ต้องดูแลข้อมูลของผู้ใช้งานได้ดีกว่าบริษัทเล็กๆ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น (แต่ก็ยังมีเรื่องอย่าง Cambridge Analytica เกิดขึ้นอยู่ดี) และตราบใดที่เรายังยอมแลกข้อมูลบางส่วนของเรากับความสะดวกสบาย เงื้อมมือของเหล่าบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ก็พร้อมจะกอบโกยอยู่แล้วตลอดเวลา

           คำตอบที่น่าจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดน่าจะเป็นการสร้างกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานให้เคร่งครัดมากขึ้น คือเอาจริงๆ เราไม่เคยอยากจะไปตรวจตราดูโรงงานน้ำพริกปลาร้าว่ามันได้มาตรฐานหรือเปล่า เราไว้วางใจให้องค์การอาหารและยาตรวจสอบแทนผู้บริโภคว่า “เออ...กินได้” ก่อนเราจะตักเข้าปาก มันเป็นเรื่องที่สะดวก และในขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้คุณหมกมุ่นมากจนเกินไป ในมุมเดียวกันข้อมูลของเราก็ควรได้รับการปกป้องดูแลเช่นเดียวกัน... แต่ใครหล่ะจะทำหน้าที่ตรงนั้น?

           เอาจริงๆ การจะจับมือใครดมเพื่อให้รับผิดชอบเรื่องแบบนี้คงหนีไม่พ้นผู้ควบคุมแอปพลิเคชั่นก่อนที่จะถูกปล่อยให้คนดาวน์โหลด ใช่ครับ... เหล่าแอปสโตร์ (App Store) ทั้งหลายที่ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีมากขึ้น แต่ก็มีคนบางส่วนที่โต้แย้งหัวชนฝาว่าแค่นั้นมัน “ไม่เพียงพอ” หรอกนะ ทางที่ดีก่อนที่เราจะดาวน์โหลดแอฟพลิเคชั่น ควรหาข้อมูลเสียก่อน ว่าใครเป็นผู้ผลิต รวมถึงเอาข้อมูลอะไรจากเราไปบ้าง แต่สำหรับคนทั่วไปก็จะใช้ความเชื่อใจว่าจะมีคนคอยปกป้องดูแลข้อมูลของเราให้ ซึ่งก็คือบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Facebook หรือ Google ที่มีข้อมูลของเรามากกว่าที่ FaceApp มี

           ความเป็นส่วนตัวถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น การใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆ ก็ควรจะระวังไว้บ้างก็ดี แต่คงไม่ต้องถึงกับหวาดหวั่นไปเสียหมด เพราะอย่าลืมว่าข้อมูลของเราถูกขุดไปเยอะมากแล้วให้กับ Apple, Google หรือ Face-book ที่ใช้กันอยู่ทุกวัน ดังนั้น หากจะทำหน้าหล่อๆ สวยๆ ยิ้มให้ชาวรัสเชียดูสักรูปสองรูป โลกก็อาจจะไม่ได้ถล่ม ฟ้าคงไม่ร่วงลงมาใส่หัวของเราทุกคนหรอกมั้ง

ไม่มีความคิดเห็น: