อายุมากกว่า 35 วิ่งหนักเสี่ยง “หัวใจขาดเลือด” อาจเสียชีวิตได้

S! Health (Rewrite)สนับสนุนเนื้อหา

               - หากมีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก หรือหน้ามืด ขณะออกกำลังกายควรหยุดพักทันที

               - หากมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนถูกกดทับไว้ โดยอาการไม่หายไปไม่ว่าจะเปลี่ยนท่าทางอย่างไร หรือแน่นหน้าอกทางด้านซ้ายร้าวไปถึงกรามหรือไหล่ซ้าย ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะเป็น “โรคหัวใจขาดเลือด”

               - การออกกำลังกายมากเกินขีดจำกัด จะส่งผลให้มีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก หรือหน้ามืด ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายไม่ไหว ควรหยุดพักทันที ไม่ควรฝืนร่างกายเพราะอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้          การร่วมวิ่งหรือร่วมแข่งขัน ฮาล์ฟมาราธอน ฟูลมาราธอน หรือแม้กระทั่งไตรกีฬา นอกจากการฝึกฝนและเตรียมความแข็งแกร่งของร่างกายแล้ว การตรวจเช็คสุขภาพและความพร้อมของหัวใจก็มีความสำคัญเช่นกัน

              (หัว) ใจสู้หรือเปล่า

          การออกกำลังกาย โดยเฉพาะการวิ่งให้ประโยชน์กับร่างกายทั้งสิ้น ทั้งลดภาวะเสี่ยงต่อโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ลดไขมันชนิดเลว (LDL) และเพิ่มไขมันดี (HDL) หากแต่ผู้ที่ต้องการเพิ่มระยะทางในการวิ่ง หรือวิ่งระยะไกล (Long Distance) ควรต้องเตรียมร่างกาย ด้วยการหมั่นสังเกตสิ่งผิดปกติของร่างกายขณะฝึกซ้อม อาทิ เจ็บหน้าอก หน้ามืด ใจสั่น โดยเฉพาะเมื่อมีอาการมากขึ้นขณะออกกำลังกาย รวมถึงหากรู้สึกเหนื่อยง่าย หรือขาบวม ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง เริ่มจากการซักประวัติอย่างละเอียด บางกรณีอาจเกิดจากโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานหรือโรคหัวใจ

          หากมีประวัติคนในครอบครัวก่อนวัยอันควร หรือ เสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ เนื่องจากโรคบางชนิดอาจมีปัจจัยเสี่ยงจากพันธุกรรม

          นอกจากนี้ด้วยดุลพินิจของแพทย์ อาจมีการส่งตรวจเพิ่มเติมนอกเหนือจากการซักประวัติและตรวจร่างกาย เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram -ECG) การวิ่งสายพาน (Exercise stress test) หรือ การวิ่งสายพานร่วมกับการทำ Echo (Stress echocardiogram)

               แน่นหน้าอกแบบไหนสงสัยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด

          อาการเจ็บแน่นเหมือนถูกกดทับไว้ โดยอาการไม่หายไปไม่ว่าจะเปลี่ยนท่าทางอย่างไร ภาวะแน่นหน้าอกเกิดขึ้นทางด้านซ้ายร้าวไปถึงกรามหรือไหล่ซ้าย อย่างไรก็ตามในคนไข้หัวใจขาดเลือดบางรายอาจมีอาการแน่นหน้าอกที่ไม่ตรงตามตำรา เช่น จุกที่ลิ้นปี่ หรือมีเฉพาะอาการเหนื่อยง่ายผิดปกติ หรือ หายใจไม่ทั่วท้อง

          แต่ถ้าหากกดบริเวณนั้นแล้วเพิ่มความเจ็บมากขึ้น หรือขยับร่างกายแล้วอาการเจ็บปวดมีเพิ่มขึ้นหรือลดลง มักจะไม่ใช่อาการของโรคหัวใจขาดเลือด แต่อาจเกิดจากกล้ามเนื้อ หากมีอาการผิดปกติมีต่อเนื่องไม่แน่ใจหรือเป็นกังวลควรพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ

               ไหวไหม …บอกมา

          ผู้วิ่งยังควรดูสภาพร่างกายของตนเองประกอบก่อนตัดสินใจลงวิ่งในสนามต่างๆ ว่ามีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เคยมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น มีปัญหาข้อเข่า ข้อเท้า หรือน้ำหนักตัวมากเกินไปหรือไม่ หากมี ควรควบคุมโรคประจำตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย หรือปรึกษาแพทย์ประจำตัว เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดอันตรายระหว่างการวิ่ง

          การฝึกฝนและความสม่ำเสมอเป็นเคล็ดลับสำคัญให้การวิ่งให้ได้ประโยชน์และเพิ่มประสิทธิภาพให้ร่างกาย โดยควรวิ่งให้ได้ 3-5 ครั้ง/สัปดาห์ ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที ฝึกอย่างสม่ำเสมอ ค่อยๆ พัฒนาตัวเอง ไต่ระดับจากการวิ่งรอบสวนสาธารณะ ไปฮาล์ฟ มาราธอน จนลงสนามฟูลมาราธอนในที่สุด ซึ่งปกติผู้มีประสบการณ์อาจใช้เวลาเตรียมพร้อมเพียง 3 เดือน ในขณะที่ฮาล์ฟมาราธอนแรกต้องฝึกซ้อมกันถึง 6-9 เดือน ทั้งนี้การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ และไม่เครียดจะช่วยให้การฝึกซ้อมราบรื่นไปจนถึงลงสนามจริง

               หนักแค่ไหน ถึงตายในสนาม

          เมื่อออกกำลังกายมากเกินขีดจำกัด จนเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่ทัน น้ำในหลอดเลือดไม่เพียงพอ หัวใจต้องบีบตัวเร็ว เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง ร่วมกับร่างกายเกิดความร้อนสูง หลอดเลือดทั่วร่างกายขยายตัว ส่งผลให้มีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอก หรือหน้ามืด เป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายไม่ไหว ควรหยุดพักทันที ไม่ควรฝืนร่างกายจนอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

          ในผู้เสียชีวิตขณะออกกำลังกายที่อายุน้อยกว่า 35 ปี มักเกิดจากโรคทางพันธุกรรม ซึ่งเกินกว่า 30% เป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนากว่าปกติ (Hypertrophic Cardiomyopathy-HCM) ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการและมักไม่รู้ตัว อาจมีประวัติใจสั่น หน้ามืดขณะออกกำลังกาย มีประวัติญาติสายตรงเสียชีวิตโดยไม่ทราบสาเหตุ คนไข้กลุ่มนี้ขณะออกกำลังกายเต็มที่ กล้ามเนื้อหัวใจที่หนาอาจบีบตัวเข้าหากันจนปิดทางออกของเลือด ส่งผลให้หัวใจปล่อยกระแสไฟฟ้าผิดปกติ และความดันต่ำลงจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตขณะออกกำลังกาย


               สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ส่วนใหญ่เสียชีวิตขณะออกกำลังกายเนื่องจากหัวใจขาดเลือด

          สมรรถภาพของร่างกาย การฝึกซ้อม สุขภาพของแต่ละบุคคลแตกต่างกัน ความสามารถและความอดทนก็ไม่เท่ากัน ผู้ป่วยโรคหัวใจที่รักการวิ่งควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวเพื่อสร้างความมั่นใจและความปลอดภัย ส่วนคนปกติควรตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อลดความเสี่ยงโรคร้ายแรงในอนาคต เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง รวมถึงดูแลร่างกายด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์และการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นตัวเร่งให้หลอดเลือดหัวใจตีบ

ไม่มีความคิดเห็น: