เข้าใจ "ไบโพลาร์" เดี๋ยวดี-เดี๋ยวร้าย ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

       ไบโพลาร์ หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว เป็นอีกหนึ่งโรคทางจิตใจที่คงจะคุ้นหูใครหลายคนในช่วงนี้ เพราะเป็นที่พูดถึงกันมากเหลือเกิน และโรคนี้ก็ทำให้ผู้ป่วยต้องประสบกับปัญหาในการใช้ชีวิต ไม่น้อยไปกว่าโรคซึมเศร้าเลยทีเดียว ผู้ที่ป่วยเป็นไบโพลาร์ จะมีอารมณ์แปรปรวนผิดปกติ โดยมีอารมณ์ดีมากจนผิดปกติหรืออยู่ในภาวะอารมณ์ดีตื่นตัวผิดปกติ (Mania) สลับกับมีภาวะซึมเศร้าอย่างหนัก (Depression) จึงทำให้เกิดความยากลำบากต่อการทำงาน การเข้าสังคม และการใช้ชีวิต

      อาการของโรค ไบโพลาร์

     ผู้ป่วยโรคไบโพลาร์มี 2 ลักษณะเด่นสลับกัน คือ มีภาวะอารมณ์ดีผิดปกติและภาวะซึมเศร้าสลับกันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยอาการแต่ละช่วง อาจมีอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลายเดือน ผู้ป่วยจะมีอาการของทั้ง 2 กลุ่ม อย่างน้อยกลุ่มละ 4-5 อาการขึ้นไป และเป็นติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์

     ช่วงอารมณ์ดีผิดปกติ (mania หรือ hyper-mania)

           1. มีความเชื่อมั่นขึ้นมากหรือคิดว่าตนยิ่งใหญ่ มีความสามารถ

           2. รู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอดเวลามีพลังงานสูงมากจนผิดปกติ

           3. ความต้องการนอนลดลง เช่น นอนแค่ 3 ชั่วโมงก็รู้สึกว่ามากพอแล้ว

           4. คิดหลายเรื่องพร้อม ๆ กัน หรือรู้สึกว่าความคิดแล่นเร็ว

           5. วอกแวก ถูกดึงความสนใจได้ง่าย กระสับกระส่ายมาก

           6. พูดคุยมากกว่าปกติ หรือต้องการพูดไม่หยุด

           7. มีกิจกรรมที่มีจุดหมายเพิ่มขึ้นมาก และอาจหมกหมุ่นกับกิจกรรมนั้น จนมีโอกาสก่อให้เกิดความยุ่งยากตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม การงาน/การเรียน หรือด้านเพศ เช่น ใช้จ่ายโดยไม่ยับยั้ง หรือไม่ยับยั้งใจเรื่องเพศ

           8. มีความต้องการทางเพศสูง อาจมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าได้ง่ายโดยไม่ป้องกัน

       ช่วงภาวะซึมเศร้า (Depression)


           1. มีอารมณ์ซึมเศร้าเป็นส่วนใหญ่ของวันโดยอาจมาจากตัวผู้ป่วยเอง เช่น บอกว่ารู้สึกเศร้า หรือรู้สึกว่างเปล่า หรือจากการสังเกตของผู้อื่น เช่น เห็นว่าร้องให้ ในเด็กและวัยรุ่น อาจแสดงออกเป็นอารมณ์หงุดหงิดได้

           2. ความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ ลดลงอย่างมากรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า หรือรู้สึกผิดอย่างไม่เหมาะสมหรือมากเกินควร

           3. น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หรือเบื่ออาหาร หรือเจริญอาหาร จนผิดไปจากปกติ

           4. นอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากเกินไป

           5. กระสับกระส่าย หรือเชื่องช้าลงจากปกติ

           6. อ่อนเพลีย หรือรู้สึกไร้เรี่ยวแรง

           7. สมาธิ หรือความสามารถในการคิดพิจารณาลดลง หรือตัดสินใจอะไรไม่ได้

           8. คิดถึงเรื่องการตายอยู่เรื่อย ๆ โดยไม่ได้มีการวางแผนที่แน่นอน หรือพยายามฆ่าตัวตาย หรือมีแผนในการฆ่าตัวตายไว้แน่นอน

 
       สาเหตุของโรคไบโพลาร์

       สาเหตุของโรคไบโพลาร์นั้นมีได้หลายสาเหตุ โดยปัจจุบันเชื่อว่า สามารถแบ่งออกได้เป็น

           • ปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ ความผิดปกติของสารสื่อประสาท ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ความผิดปกติของระบบฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย ความผิดปกติของการทำงานในส่วนต่างๆ ของสมอง ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ และการตอบสนองต่อความเครียด ความกลัว หรือความตื่นเต้น

           • ปัจจัยทางจิตสังคม เช่น ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความเครียด หรือปัญหาต่างๆ ภายในชีวิตได้ แม้ว่าปัจจัยทางสังคมจะไม่ใช่สาเหตุของโรค แต่ก็สามารถเป็นตัวกระตุ้น ที่ทำให้โรคแสดงอาการออกมาได้

           • ปัจจัยทางพันธุกรรม มีการศึกษาพบว่า จะพบโรคนี้ได้บ่อยขึ้น ในครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นไบโพลาร์อยู่ โดยเฉพาะในญาติที่มีความใกล้ชิดเชื่อมโยงทางสายเลือด

           • ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ได้รับแรงกระตุ้นจากปัจจัยภายนอก ที่กระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจ เช่น ความผิดหวัง เสียใจอย่างรุนแรงหรือฉับพลัน การเจ็บป่วยทางกาย ปัญหาความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด ความเครียดจากการเรียนและการทำงาน เป็นต้น


       การรักษาโรคไบโพลาร์

       หากคุณสงสัยว่า ตนเองหรือคนใกล้ตัวอาจเป็นไบโพลาร์ ก็ควรไปพบจิตแพทย์ โดยจะมีการตรวจร่างกาย รวมถึงตรวจเลือด หรือปัสสาวะ เพื่อหาสาเหตุของอาการที่ทำให้เกิดภาวะอารมณ์ไม่มั่นคง จากนั้น จิตแพทย์จะใช้ชุดคำถาม เพื่อทดสอบว่าเป็นโรคไบโพลาร์หรือไม่ และเตรียมการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

       เมื่อวินิจฉัยแล้วว่า ป่วยเป็นไบโพลาร์จริง ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาตามระดับความรุนแรง และลักษณะของอาการ โดยในเบื้องต้น แพทย์จะจ่ายยาเพื่อปรับสมดุลของสารสื่อประสาท ที่เป็นเหตุให้เกิดอารมณ์แปรปรวนก่อน นอกจากนี้ ผู้ป่วยไบโพลาร์จะต้องเข้ารับกระบวนการบำบัดจากจิตแพทย์อย่างต่อเนื่อง และใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่หยุดยาเองจนกว่าแพทย์จะสั่งให้หยุดใช้ เพื่อปรับสารสื่อประสาทในสมอง ให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติ


       การป้องกันโรคไบโพลาร์

       แม้จะยังไม่มีวิธีที่แน่นอน ที่จะช่วยป้องกันโรคไบโพลาร์ได้ แต่ก็มีวิธีที่ช่วยป้องกัน ไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ นั่นก็คือ

           • การเข้ารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ และกินยาตามที่แพทย์สั่ง เพื่อให้สภาวะอารมณ์คงที่ และป้องกันการเกิดอารมณ์แปรปรวน

           • ไม่หยุดรักษา หรือเลิกกินยากลางคัน เพราะคิดว่าอาการดีขึ้นแล้ว เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะกลับมาเป็นได้อีก หรืออาการแย่ลงกว่าเดิม

           • ระมัดระวังเรื่องการใช้ยา เพราะจะส่งผลกระทบต่อสารเคมีในสมอง ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์

           • สังเกตอาการที่เป็นสัญญาณสำคัญของโรค หรืออาการแทรกซ้อนต่างๆ แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา

 

ไม่มีความคิดเห็น: