ปัจจัยเสี่ยง “มะเร็งปอด” ไม่สูบบุหรี่ก็เสี่ยงได้
คนไทยเสี่ยง “มะเร็งปอด” มากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ปัจจัยเสี่ยงไม่ได้มีแค่การสูบบุหรี่ แต่ยังรวมถึงการสูดดมควันบุหรี่ ควันจากมลพิษต่าง ๆ ก๊าซอันตราย แร่ใยหิน รังสี รวมถึงฝุ่น PM 2.5 ด้วยเช่นกัน แนะตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดอันตรายต่อชีวิต
พบคนไทยเสี่ยงมะเร็งปอดเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาโรคมะเร็งปอดที่คนทั่วโลกป่วยและเสียชีวิตมากที่สุด
สำหรับประเทศไทยโรคมะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบมาก เป็นอันดับที่ 2 ในเพศชาย และอันดับ 5 ในเพศหญิง สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก รายงานว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลก 2 ล้านคนต่อปี และเสียชีวิต 1.7 ล้านคนต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบคนไทยป่วยเป็นมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นวันละ 42 คน (Cancer in Thailand Vol. IX 2013-2015) และเสียชีวิตถึงวันละ 38 คน (สถิติสาธารณสุข พ.ศ.2560 กองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข)
ปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอด คือ
การสูบหรือรับควันบุหรี่
พันธุกรรม
การสัมผัสสารก่อมะเร็ง อาทิ ก๊าซเรดอน แร่ใยหิน รังสี ควันธูป ควันจากท่อไอเสีย และมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5
อาการของโรคมะเร็งปอด
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อาการของมะเร็งปอดที่พบบ่อย ได้แก่
ไอเรื้อรัง
ไอมีเสมหะปนเลือด
หายใจลำบาก
เหนื่อยหอบ
หายใจมีเสียงหวีด
เสียงแหบหรือเสียงเปลี่ยนไป
เจ็บหน้าอกหรือหัวไหล่
ปอดติดเชื้อบ่อย
เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
หากมีอาการผิดปกติเหล่านี้เกิดขึ้นต่อเนื่องเกินกว่า 3 สัปดาห์ ควรรีบปรึกษาแพทย์
แพทย์แนะตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ช่วยลดอันตรายต่อชีวิตได้
แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ที่มีประสิทธิภาพในระดับประเทศ แต่มีคำแนะนำให้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงในการเกิดมะเร็งปอดเข้ารับการตรวจ คัดกรองโดยการเอกซเรย์ปอดเป็นประจำทุกปี การรักษาในปัจจุบัน ได้แก่ การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การฉายรังสี และการรักษาโดยให้ยามุ่งเป้าทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะของโรค ดังนั้น การตรวจคัดกรองในรายที่เสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งปอด จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถค้นพบผู้ป่วยระยะเริ่มต้นให้ได้เข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและลดการเสียชีวิตลงได้
วิธีลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอด
สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันมะเร็งปอด คือ “เลิกสูบบุหรี่” เพื่อตัวคุณเอง ครอบครัวและสังคมรอบข้าง หมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอและรับประทานอาหารที่มีประโยชน์
ขอขอบคุณ
ข้อมูล : ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ,นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์
ภาพ : iStock
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น